การปฏิบัติตัวเมื่อถูกกัด

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ตลอดปี ปีนี้พบเสียชีวิตแล้ว 1 ราย พร้อมย้ำเตือนหากถูกสุนัข หรือแมว กัด ข่วน ให้รีบปฐมพยาบาลโดยล้างแผลด้วยน้ำสะอาดฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง  เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันเสียชีวิต โดยวัคซีนชนิดนี้สามารถฉีดได้ทันที ไม่กระทบต่อการฉีดวัคซีนโควิดแต่อย่างใด 

          วันนี้ (20 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 กันยายน 2565 พบผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี และผู้ป่วยอีก 1 ราย ที่จังหวัดสงขลา ทั้ง 2 ราย ถูกสุนัขกัด/ข่วน แต่ไม่ได้ไปพบแพทย์และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หลังสัมผัสโรค โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 1 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่จังหวัดชลบุรี มีประวัติโดนสุนัขที่รับมาเลี้ยงข่วน และไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด ส่วนผู้ป่วยรายที่ 2 หรือรายล่าสุดที่จังหวัดสงขลา ถูกสุนัขไม่มีเจ้าของกัดที่บริเวณมือข้างซ้าย มีเลือดออก หลังจากที่ทำความสะอาดบาดแผลแล้ว ไม่ยอมเข้าพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ถึงแม้ว่าพ่อของผู้ป่วยและอาสาสมัครสาธารณสุขจะแนะนำให้เข้ารับวัคซีนก็ตาม และหลังจากสุนัขตาย ไม่มีการส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ขณะนี้ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลและใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่  ดังนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงของการพบโรคพิษสุนัขบ้าก็คือการถูกสัตว์กัด/ข่วน โดยไม่ได้เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และสุนัขยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่เชื้อ ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ สัตว์ที่พบบ่อยที่สุดคือ สุนัข รองลงมาคือ แมวและวัว  

          นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำๆ ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น บางคนคันมากจนกลายเป็นแผลอักเสบ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมากระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม พูดเพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น ตามักเบิกโพลงบ่อยๆ บางครั้งเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคทางจิต มีอาการกลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

          “หากประชาชนถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน ให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว ถึงแม้ว่าแผลจะเล็กน้อยหรือจะเพิ่งฉีดวัคซีนโควิด 19 มา หรือมีนัดฉีดวัคซีนโควิด 19 ก็ตาม ก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทันที ไม่ต้องรอทิ้งช่วงเวลา ประชาชนไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบชุด และตรงตามนัดจึงจะได้ผล การฉีดวัคซีนจะป้องกันการเสียชีวิตได้ แต่หากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้ จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทจนแสดงอาการป่วย ยาหรือวัคซีนจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย” นายแพทย์โอภาสกล่าว  

          นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือประชาชนนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และขอให้เพิ่มความระมัดระวังตนเองและบุตรหลานอย่าให้สัตว์กัดข่วน หลีกเลี่ยงการสัมผัสสุนัขหรือแมวที่ไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัขหรือแมวกัดหรือแค่ข่วนก็ตาม ให้รีบล้างแผลทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง เพื่อล้างเชื้อออกจากแผลให้ได้มากและเร็วที่สุด จากนั้นให้เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อและรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ หากพบสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้าให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อการสังเกตอาการและกักโรค

          ทั้งนี้ วิธีการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทำได้ไม่ยาก ขอให้ประชาชนนำสุนัข แมว ที่อายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และฉีดกระตุ้นทุกปี ในต่างจังหวัดสามารถรับการฉีดที่หน่วยบริการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าฟรีในพื้นที่ และในพื้นที่กทม. มีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา  2) ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี  3) ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง  4) ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน  5) ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม  6) ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วง นุชเนตร  7) ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย  และ 8) กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าดินแดง สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422               

**********************

ข้อมูลจาก : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 20 กันยายน 2565

 

หมวดหมู่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง