กรมควบคุมโรค ห่วงใยสังคมสูงวัย แนะการป้องกันอุบัติเหตุหกล้มในห้องน้ำ

กรมควบคุมโรค ห่วงใยสังคมสูงวัย แนะการป้องกันอุบัติเหตุหกล้มในห้องน้ำ

          กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีการป้องกันและการจัดห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ให้ปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุหกล้มในห้องน้ำ จากข้อมูลที่พบว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 นี้ โดยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 20 หรือสูงถึง 12 ล้านคน และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าในปี 2580 จะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุประมาณ ร้อยละ 30 และจะพบผู้สูงอายุอยู่ลำพังหรืออยู่กับผู้สูงอายุด้วยกัน กว่าร้อยละ 30

          วันนี้ (7 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ที่นับวันจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นเนื่องจากจำนวนและอายุขัยของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้นจะยิ่งเพิ่มโอกาสการบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม โดยสถานการณ์การพลัดตกหกล้มในประเทศไทยพบว่ากว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ หกล้มทุกปี สถานที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในบ้าน ร้อยละ 65 และในห้องน้ำ ร้อยละ 30 ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก    การลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันมากถึงร้อยละ 61 แต่ยังพบว่าสูงถึงร้อยละ 80 พักอาศัยอยู่ในบ้านที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่มีราวเกาะในห้องน้ำ และใช้ส้วมนั่งยอง เป็นต้น

          ข้อแนะนำสำหรับห้องน้ำผู้สูงอายุที่ปลอดภัย มีดังนี้ 1) จัดห้องน้ำให้อยู่ติดกับห้องนอน ไม่ควรมีกลอนประตู  2) มีแสงสว่างเพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืนให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ชัดเจน  3) พื้นเรียบเสมอกัน แบ่งพื้นที่เป็นส่วนแห้ง ส่วนเปียกปูด้วยวัสดุผิวหยาบและมีความหนืด หรือใช้แผ่นรองกันลื่น   4) ใช้โถส้วมเป็นแบบชักโครกหรือแบบนั่งราบ และติดตั้งราวจับบริเวณโถส้วมและเก้าอี้นั่งอาบน้ำ  5) มีเก้าอี้นั่งอาบน้ำติดอยู่กับที่ มีพนักพิงและที่พักแขน  6) ทำประตูห้องน้ำให้เป็นบานเลื่อนแบบกว้างเพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้เปิดปิดหรือเข้าออกได้อย่างสะดวก

          นายแพทย์โอภาส กล่าวต่ออีกว่า ขอความร่วมมือชุมชนหรือเพื่อนบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่บริเวณใกล้เคียง ให้ช่วยกันดูแลถามไถ่ผู้สูงอายุที่อาจอยู่เพียงลำพัง และหากพบเห็นสิ่งผิดปกติขอให้รีบโทรแจ้งผู้ใหญ่บ้าน หรือบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โทร.1669 ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

********************************

ข้อมูลจาก: กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 7 กันยายน 2565

 

 

หมวดหมู่

เรื่องที่เกี่ยวข้อง