เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน เพื่อแสดงความคิดเห็น/โหวต

เครือข่ายลดอุบัติเหตุค้าน “ธุรกิจน้ำเมา” ขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงถึงตี 4

วันนี้ (18 ตุลาคม 2566) นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ. ) กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการธุรกิจผับบาร์ หรือร้านเหล้า ที่ต้องการจะเปิดให้บริการถึงตี 4 หรือบางแห่งขอเปิดตลอด 24 ชั่วโมง และล่าสุดมีบางจังหวัดพร้อมที่จะดำเนินการตาม ว่า สคอ.ขอคัดค้านการเปิดให้บริการ สถานบันเทิงถึงตี 4 เพราะขณะนี้ความพยายามของกลไกรัฐที่ต้องรับภาระกับปัญหา หรือผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นแทบจะรับมือไม่ไหว

“เรื่องนี้ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า เรามีฝ่ายการเมืองไว้รับรู้และแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มใหญ่ หรือเป็นเพียงแค่เครื่องมือของคนบางกลุ่ม เพราะที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนลงแรง วิเคราะห์วิจัย รวบรวมข้อมูล สถิติ ที่เป็นผลกระทบและส่งผลให้เกิดความสูญเสีย และนำไปสู่การออกมาตรการแก้ไขมาโดยตลอด และปัจจุบันเราต่างก็ทราบกันดีว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้น ระยะยาวต่อประชากรในประเทศ ความสูญเสียเกิดขึ้นกับบุคคล ครอบครัว ค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศมาโดยตลอด คนส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระจ่ายภาษีแล้วนำไปใช้กับการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ภาคธุรกิจที่มีผลประโยชน์จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทบจะไม่สนใจใยดี ทุกมาตรการที่รัฐกำหนด ล้วนเกิดจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มาตรการลดการเข้าถึงในบางกลุ่ม ลดการจำหน่ายในบางช่วง ล้วนแต่พยุงให้ปัญหาทุเลาเบาบางลง ให้อยู่ด้วยกันต่อไปได้ แต่เพียงเพราะผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนบางกลุ่มได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ถึงกับจะแก้ไขกฎเกณฑ์เพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง อาศัยเรื่องระบบเศรษฐกิจมาเป็นข้ออ้าง” นายพรหมมินทร์ กล่าว

ผู้อำนวยการ สคอ. กล่าวว่า เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใช้แรงงานเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่าย อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการดื่มแล้วขับก็เกิดขึ้นบ่อย ประชากรกลุ่มนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้ส่งผลกระทบต่อฐานประชากร ขาดแคลนแรงงาน คนรุ่นใหม่ที่จะมารับมือต่อ ต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศจำนวนมากมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

“เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวอย่างเห็นได้ชัด หากปล่อยให้ประเทศชาติขาดแคลนกำลังคน สูงวัย ตายเร็ว เกิดน้อย กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดจะแก้ไข ก็เสมือนกับเดินเข้าสู่หายนะ อยากเห็นฝ่ายการเมืองมองที่ผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศเป็นหลัก มิใช่ผลประโยชน์ของตนหรือคนบางกลุ่มเท่านั้น ฝ่ายการเมืองต้องทำหน้าที่กำหนดมาตรการแก้ไข ป้องกัน หรือให้การสนับสนุนหน่วยงาน องค์กรที่ต้องรับมือกับปัญหาเหล่านั้นให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่” นายพรหมมินทร์ กล่าวและว่า การที่สังคมออกมาเตือน อย่ามองเป็นอุปสรรคทางธุรกิจ เพราะเป็นอนาคตของคนไทยทั้งประเทศ

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า ขอส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ประกอบการธุรกิจน้ำเมา 1.น้ำเมาเป็นสินค้าอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพ ความสงบสุข และความปลอดภัยของคนทั้งประเทศ 2.ธุรกิจน้ำเมา เป็นการหากินจากหยาดเหงื่อแรงงานและชีวิตของคนทั้งประเทศ โดยอาศัยจุดอ่อนของพวกเขาเป็นเครื่องมือ การส่งเสริมการขาย การโหมโฆษณา การขยายกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ เป็นการทำลายรากฐานความมั่นคงทางสังคม 3.การพยายามแก้ไข ยกเลิกกฏเกณฑ์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ถือเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ธุรกิจน้ำเมามีความร่ำรวย มากมีทรัพย์เงินทองอยู่แล้ว อย่าทำลายสังคมไปมากกว่านี้

 

ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4238147

296
กษิดิศ ขันธรัตน์ - สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)
18 ต.ค. 66 - 16:17