หญ้าเป็นวัชพืชที่ต้องทำลายทิ้ง?
ความเข้าใจผิดเรื่องที่ว่า “หญ้า” คือ วัชพืชไร้ประโยชน์ที่ต้องกำจัดทิ้งให้สิ้นซาก ต้องรณรงค์ทำความเข้าใจกันยกใหญ่เพราะแท้จริงแล้วหญ้ามีคุณประโยชน์อนันต์ที่ธรรมชาติมอบมาให้เกษตรกร
ข้อดีของหญ้าคือช่วยคลุมความชื้นให้กับผิวดิน ทำให้จุลินทรีย์ดินมีชีวิตอยู่ได้โดยเฉพาะสัตว์อย่างไส้เดือนที่คอยทำหน้าที่ย่อยสลายใบไม้ให้เป็นปุ๋ยชั้นดี
ดินตรงไหนที่หญ้างามแสดงว่าดินดีเพราะหญ้าจะดูดซึมธาตุอาหารมาเลี้ยงตัวเอง ดังนั้นการตัดหญ้าแล้วเอามาทำปุ๋ยหมักก็จะเป็นการหมุนเวียนนำปุ๋ยธรรมชาติที่ประกอบด้วยธาตุอาหารต่างๆหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ได้ไม่จบสิ้นทั้ง จุลธาตุ ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารหลักที่หญ้าดูดซับขึ้นมา นำไปให้พืชของเราได้ใช้
จุลธาตุในหญ้ามี 8 ตัวประกอบด้วย โบรอน โมลิบดินัม เหล็ก สังกะสี ทองแดง แมงกานีส นิกเกิ้ล และคลอรีน ส่วนธาตุอาหารรองมี 3 ตัว คือ แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์
ธาตุอาหารพวกนี้หาไม่ได้ในปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมีธาตุอาหารหลักแค่ 3 ตัว คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมเท่านั้น ซึ่งในปุ๋ยหมักจากหญ้าก็มีธาตุอาหารหลักพวกนี้ด้วย
หญ้ามีคุณอนันต์ ต้องช่วยกันหยุดฆ่าหญ้าทิ้งอย่างผิดวิธีด้วยการเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรแล้ว ยังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเท่ากับเป็นการเสียประโยชน์โดยใช่เหตุ เหมือนการเผาเงินทิ้งไป