การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) อาวุธเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของ Change Agent
เมื่่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ได้จัดกิจกรรม "ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะในชุมชน ตอน กินเป็น กินดี มีสุข" ขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น อสม.ระดับแกนนำของแต่ละตำบลในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีจำนวนกว่า50คน
ผู้รับผิดชอบโครงการได้ออกแบบการอบรมครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 เรื่องบทบาทและคุณสมบัติของผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ และส่วนที่ 2 เป็นเรื่ององค์ความรู้ของสุขภาวะทางกายและโภชนาการ แต่สิ่งที่จะนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนในกระทู้นี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ชื่อว่า การฟังอย่างลึกซึ้ง หรือ Deep Listening ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาของบทบาทและคุณสมบัติของผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ
การฟังเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากของการสื่อสาร การฟังอย่างลึกซึ้ง คือ การฟังที่ใส่ใจฟังผู้พูดอย่างแท้จริง การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นสิ่งที่สำคัญในยุคที่เต็มไปด้วยการสื่อสารออนไลน์มาก ไม่ว่าจะมีความสำคัญทางด้านการมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ครอบครัว หรือความสำคัญในการสื่อสาร ทำงานร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการแสดงถึงภาวะความเป็นผู้นำ
ในชุมชนที่ประกอบด้วยผู้คนและปัญหาอันหลากหลายที่มีสาเหตุแตกต่างกัน ผู้นำที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องใช้ใจที่เป็นธรรม ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งจึงเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องมี
กิจกรรมฝึกฟังอย่างลึกซึ้งในครั้งนี้ ทีมงานได้ประยุกต์มาจากกระบวนการ LARA (Listen Affirm Respond Add) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
อุปกรณ์ – นาฬิกาจับเวลา, เครื่องให้สัญญาณเสียง, ฟลิปชาร์ตไว้เขียนช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์วงใหญ่, เนื้อหาหลักการลาร่า (เวลาแต่ละช่วงยืดหยุ่นได้ตามบรรยากาศ) |
60-90 นาที |
- จับคู่กับคนที่เราสบายใจที่สุด นั่งลงด้วยกันโดยมีพื้นที่ส่วนตัวที่คุยกันได้แบบไม่รบกวนคู่อื่นมากนัก - กระบวนกรเกริ่นว่ากำลังจะฝึกเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง |
5 นาที |
เตรียมร่างกาย - ให้คู่นั่งหันหน้าเข้าหากัน และสร้างความเชื่อมโยงกัน เช่น นั่งใกล้ๆ มองตา ส่งยิ้ม หรืออาจสัมผัสตัวกัน กอดกัน ทำความรู้สึกว่าคนข้างหน้าเหมือนเขาเป็นคนสำคัญที่สุดในโลก - แต่ละคนกลับมาตั้งหลักกับตัวเอง (นั่งหันหน้าเข้าหากันเหมือนเดิม) โดยปรับท่านั่งให้สบาย แกนสันหลังตรง (ตั้งแต่กระหม่อมถึงก้นกบ) รับรู้ลมหายใจแบบปกติตามธรรมชาติสัก 5 ลมหายใจ แล้วลองหายใจให้ลึกขึ้นให้เต็มปอดแล้ว กลั้นไว้ครู่หนึ่งแล้วระบายออกให้สุด 5 ลมหายใจ |
5 นาที |
เตรียมเรื่อง - หลับตาเบาๆและนึกย้อนไปถึงวัยเด็ก ความสุข ครอบครัว ครู เพื่อน สัตว์เลี้ยง กิจกรรมที่ชอบทำ หรือใครบางคน การทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เด็กน้อยคนนี้มีความสุข (สำหรับคนที่นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร ให้รู้สึกถึงลมหายใจและความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนี้อย่างเป็นเพื่อนกับตัวเอง เราเองตอนนี้ที่อยู่เป็นเพื่อนกับเด็กน้อยคนนั้น) เลือกความทรงจำสักเรื่องหนึ่งขึ้นมา |
3 นาที |
เล่าและฟังรอบ 1 - A เล่าเรื่องของตัวเองให้ B ฟัง 7 นาที - B ฟังเหมือน A เป็นคนสำคัญที่สุดในโลก ปล่อยใจให้ว่างเพื่อรับฟังเต็มที่ ทำตัวเป็นกระจกหรือบ่อน้ำใสๆ ถ้ามีความคิด ความสงสัย อยากถาม อยากแนะนำ ความชอบ ไม่ชอบ คำวิจารณ์ คำตัดสินต่างๆ ก็รับรู้แล้ววางไว้ แล้วฟังต่อ เกิดความคิดต่างๆอีกก็รับรู้แล้ววางไว้แล้วฟังต่อ ถ้ารู้สึกสิ่งใด ก็รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้น วางลง แล้วฟังต่อ - B สะท้อนกลับสิ่งที่ได้ยินจาก A 3 นาที |
10 นาที |
เล่าและฟังรอบ 2 - กลับมาตั้งหลัก และให้ทำขั้นเตรียมร่างกายอีกครั้ง - สลับ B เป็นคนเล่า (ขั้นตอนเหมือนรอบ 1) |
13 นาที |
คู่คุยกัน ให้แลกเปลี่ยนกับคู่ตัวเองว่าช่วงฝึกเกิดอะไรขึ้นบ้าง - ความรู้สึก ความคิดในตัวเอง เมื่อเป็นคนเล่า และเมื่อเป็นคนฟัง - สิ่งที่เพื่อนทำได้ดี และสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี - ขอบคุณกันและกลับเข้าวงใหญ่
|
7 นาที |
ชวนคุยวงใหญ่ - ชวนคู่หรือคนที่อยากแลกเปลี่ยนสะท้อนประสบการณ์ในวงใหญ่ เกี่ยวกับความรู้สึก ความคิดในตัวเอง เมื่อเป็นคนเล่า และเมื่อเป็นคนฟัง - กระบวนการสอบถามเพิ่มเติมและช่วยจับประเด็นให้ชัดขึ้น และอาจถามต่อเช่น การฟังแบบนี้ต่างจากการฟังปกติที่เคยฟังกันมาอย่างไร และส่งผลต่างกันอย่างไร - ชวนวงช่วยกันสรุปหลักการของการฟังอย่างลึกซึ้งจากประสบการณ์ |
30 นาที |
หากท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ครูโอ๋ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต