นาทีเผชิญความตาย
เผชิญความตาย !!!
มันคือนาทีแห่งความยากลำบาก
เมื่อต้องเอ่ยคำร่ำลาก่อนสัญญาณชีพจรคุณตาจะดับลง
ผมมีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้ ในโครงการอบรม“กระบวนกรชุมชนเพื่อการวางแผนดูแลล่วงหน้า”
เรียกง่าย ๆ ว่า โครงการ“แฮปปี้เดทเดย์” การเตรียมตายก่อนตาย เป็นระยะเวลา 2 วัน
จัดโดย ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค จ.ลำปาง และโรงพยาบาลน่าน
ซึ่งได้รับการสนับสนุนสื่อและกระบวนกรจากโครงการชุมชนกรุณา
เพื่อการอยู่และตายดีของกลุ่ม Peaceful Death
อบรมผ่านไปหนึ่งอาทิตย์
‘ตามา’ วัย 85 ปี เป็นคุณตาของภรรยาผม
ถูกส่งมารักษายังโรงพยาบาลประจำจังหวัดแพร่
ด้วยโรคปอดบวมและหัวใจพอง
สองวันแรกอาการคุณตายังดูดี วันที่สามเริ่มไม่เข้าที
วันที่สี่ท่านเริ่มทรุด ลูกหลานจึงหยุดทุกงานรีบมาเฝ้าดูแล
การอบรมทำให้มีทักษะการสื่อสารเรื่องความตาย
ผมจึงพอตั้งสติชวนตั้งวงคุยกับลูกหลานเตรียมพร้อมรับมือหากถึงเวลาต้องสูญเสีย
บทสนทนาระหว่างคนใกล้ชิดจึงถูกเปิดประเด็นคุย “ทำอย่างไรให้ท่าน ตายดี ???”
ได้มติเป็นเอกฉันท์ หากนาทีนั้นมาถึง เราจะไม่ยื้อชีวิตไว้เพียงเพื่อยืดการตาย
ไม่ช็อตกระแสไฟฟ้า หรือใส่ท่อช่วยหายใจ เพราะไม่อยากให้ท่านทุกข์ทรมาน
สอดคล้องกับเจตนาของตามาว่าไม่ต้องการให้แพทย์ใช้เครื่องพยุงชีพ
ก่อนหน้านี้ตามายังสื่อสารได้ตามปกติ
ผมมีจังหวะนาทีทองพูดคุยถึงเรื่องความตาย
ชวนสะสางสิ่งค้างคาใจที่อยากทำ
ได้คำตอบว่าท่านอยากกลับไปเที่ยวบ้านเกิด อ.เชียงของ จ.เชียงราย อีกสักครั้ง
ท่านไม่มีความกลัว(ตาย) ไม่รู้สึกผิดกับเรื่องไหน ไม่โกรธในโชคชะตา ไม่ห่วงในเรื่องใด
มีเพียงคิดถึงหลาน ๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ กับหลานรักที่อยู่เมืองจันทบุรี
ตามาไม่ลืมบอกความลับว่าซุกซ่อนเงินก้อนหนึ่งไว้ในลิ้นชักห้องนอน
เสียง ติ๊ด ๆ ๆ จากเครื่องติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย
แม้ไม่เข้าใจในตัวเลขหลายแถวในจอมอนิเตอร์
แต่ก็รับรู้ว่าคือช่วงเวลาวิกฤตของตามา
กลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อผสมกลิ่นยาเจือกลิ่นต่าง ๆ ของผู้คนในห้องรวม
เสียงร้องโอดโอยแสดงความเจ็บปวดของคนไข้สักเตียงแว่วมา
แสงไฟสว่างจ้าตลอดเวลา แต่กลับให้ความรู้สึกมัวหมองหดหู่
พยาบาลสาวส่งยิ้มมุมปากเล็กน้อยเหมือนจะให้กำลังใจญาติคนไข้
เธอนำลำโพงตัวเล็กเปิดเสียงบทสวดโพชฌงคปริตร
เสียงนั้นแว่วเบา ๆ
ทว่ากับดังพอจะทิ่มแทงหัวใจคนข้างเตียง
รับรู้ทันทีว่า ช่วงท้ายของชีวิตคุณตามาถึงแล้ว
“พี่ช่วยพูดอะไรดี ๆ ส่งตาหน่อยสิ” ภรรยาผมบอกด้วยสายตาวิงวอน
ครึ่งหนึ่งของชีวิตผม อาชีพที่ใช้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวล้วนต้องอาศัยการพูด
แต่การพูดครั้งนี้ยากกว่าครั้งใด ๆ และยังไม่เคยพูดให้ใครสักครั้ง
“ตาให้นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นะ
นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ นึกถึงความดีที่ตาเคยทำมา
หากตาจะไปแล้วก็ไปเถอะไม่ต้องห่วงอะไรทางนี้นะตา”
นาทีนั้นผมคิดเพียงแค่นั้น ตามายังนอนหลับตานิ่ง คิดว่าท่านคงได้ยิน
เสียงเครื่องจับชีพจรดังติ๊ด ๆ แสดงถึงการมีชีวิตอยู่
ภรรยาผมโทรศัพท์เปิดกล้องหาหลาน ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นหน้า
เอ่ยคำร่ำลาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนคุณตาจะออกเดินทางไกล
เรารู้สึกแน่นในอกจุกที่คอ ปล่อยน้ำตาไหลซึมแทนคำพูด
คืนนั้นตามาจากพวกเราไปอย่างสงบและมีความหมายท่ามกลางลูกหลานที่มาส่ง
วันนี้งานบำเพ็ญกุศลศพของตามาผ่านไปด้วยดี
มีเพียงเรื่องเดียวยังค้างคา
เพราะเคยได้ยินมาว่าคนใกล้ตายส่วนใหญ่
มักเสียใจกับ “สิ่งที่ไม่ได้ทำ” มากกว่า “สิ่งที่ทำลงไป”
รู้สึกเสียดายที่ตามาไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดก่อนตาย
ได้เพียงพารูปถ่ายในกรอบใหญ่ไปทำบุญ